“มึนนิดหน่อย ขับไม่ไกล ไม่เป็นไรหรอกมั้ง” คงเป็น ประโยคที่นักดื่มหลายคนชอบบอกกับตัวเอง ก่อนจะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดร้ายแรงที่สุดเรื่องนึง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถเสียหาย เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น หรือแม้กระทั่งเจอ “ด่านตรวจ” ที่พร้อมลงโทษทั้งจำทั้งปรับที่จริงจังกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีการปรับ “กฎหมายเมาแล้วขับ” ให้มีความเข้มข้นขึ้นอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะดื่มแล้วก็จงระวัง! เพราะโทษของการเมาแล้วขับรอบนี้ รับรองโดนแล้วสร่างชัวร์!
สรุป “กฎหมายเมาแล้วขับ”
กรณีที่ “เมาแล้วขับ” ทั่วไป
- เมื่อมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 บริบูรณ์ หรือ มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ให้ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”
- และเมื่อมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ให้ผู้ที่เข้าข่ายทั้ง 2 เกณฑ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับ
กรณีที่ “เมาแล้วขับ” แล้ว “ปฏิเสธการเป่า” หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุ
- เบื้องต้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ศาลยังสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือ เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน
กรณี “เมาแล้วขับ” และทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บ”
- จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
กรณี “เมาแล้วขับ” และทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บสาหัส”
- จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 - 120,000 บาท และระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี
กรณี “เมาแล้วขับ” และทำให้ผู้อื่น “ถึงแก่ความตาย”
- จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
แล้วถ้าเกิด “เมาแล้วขับ” ขึ้นมาจริงๆ ประกันรถยนต์จะช่วยจ่ายไหม?
ในส่วนนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี เนื่องจากประกันรถยนต์มีทั้ง พ.ร.บ. รถยนต์ และ ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1, ประกันชั้น 2+ และ ประกันชั้น 3+) ซึ่งแต่ละประเภทก็มีเงื่อนไขในการคุ้มครองที่แตกต่างกัน
กรณีที่ 1 พ.ร.บ. รถยนต์
จะคุ้มครองผู้เอาประกันรถยนต์และคู่กรณี โดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด ซึ่งจะจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับ “ค่ารักษาพยาบาล” เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้เอาประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ จะไม่คุ้มครอง
กรณีที่ 2 ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
- ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
กรณีที่คุณดื่มมา ถึงแม้ค่าแอลกอฮอล์จะไม่เกิน แต่ประกันรถของคุณไม่ว่าจะชั้นไหน จะคุ้มครองแค่คู่กรณีเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดความคุ้มครองเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันรถยนต์ที่ซื้อไว้ - ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ประกันรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกันและบุคคลภายนอกทุกกรณี แต่ทั้งนี้ ในส่วนความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ประกันภัยจะยังต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปก่อน แล้วไปเรียกเก็บคืนจากผู้ขับขี่ที่เอาประกันอีกที
สุดท้ายนี้ ด้วยความห่วงใยจาก EasyCompare ทางที่ดีที่สุดคือไม่ขับรถหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากจำเป็นต้องเดินทางต่อจริง ๆ ควรเลือกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจะดีกว่า อย่ามองข้ามเรื่องความปลอดภัย เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น อาจสร้างความสูญเสียทั้งเงินและชีวิต ของทั้งตัวคุณเองและคนอื่นก็เป็นได้